วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วางแผนการใช้เงิน ออมแบบง่ายๆ

สวัสดีค่ะ ........... ทุกคน  ทุกคนคงรู้นะค่ะว่า " เงิน " ที่เรารู้จักนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตประจำวันในเรื่องต่างๆ เลยทีเดียว และเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ  หมายความว่า ใครๆ ก็อยากมีเงิน ใครๆก็อยากจะรวย เพื่อสนองความต้องการของตัวเอง
วันนี้ก็จะมีวิธีแนะนำหรือบริหารเงินในหระเป๋าอย่างไร ให้พออยู่ พอกิน และก็มีเก็บ เพื่อที่จะใช้ประโยชน์ในภายภาคหน้า 


1. ต้องใส่ใจและต้องจริงจัง 
เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในแต่ละเดือนคุณจะ "เหลือเก็บก่อนค่อยเอาไปใช้ หรือ เหลือจ่ายก่อนค่อยเอาไปเก็บ" ลองพิจารณาสมการด้านล่างว่าแบบใดที่เป็นตัวคุณ
รายได้ - เงินออม = รายจ่าย (เหลือเก็บ ค่อยเอาไปใช้)

รายได้ - รายจ่าย = เงินออม (เหลือจ่าย ค่อยเอาไปเก็บ)
การออมเงินที่ดีต้องเป็นแบบแรก คือ หักเงินออมไว้ก่อน ที่เหลือจึงนำไปใช้จ่าย เพื่อกันเงินสำหรับการเก็บออมอย่างสม่ำเสมอในแต่ละเดือน แต่สำหรับคนที่มองหาความมั่งคั่ง สมการแบบนี้ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องเลือกใช้สมการเศรษฐี นั่นคือ
รายได้ - เงินออม - เงินลงทุน = รายจ่าย โดยหลังหักเงินออมแล้ว ยังต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับลงทุนด้วย เพื่อให้เงินทำงาน เงินทองจะได้งอกเงยยิ่งๆ ขึ้นไป
2.รู้จักตนเองก่อน.....ลงมือ
เริ่มต้น เราต้องปรับความเข้าใจเสียก่อนว่าเงินออมหรือเงินเก็บนั้นมีหลายวัตถุประสงค์ แต่ก่อนเราคิดว่าเงินออมนี้คือเอาไว้เป็นเงินสำรอง ฉะนั้นเราควรแบ่งเงินที่จะเก็บให้ชัดว่าเงินเก็บก้อนนี้เอาไว้ทำอะไร ก้อนนี้ไว้ทำอะไร และอย่าเอามาปนเป็นบัญชีเดียวกัน เราต้องแบ่งเงินให้เป็นสัดส่วนที่จัดเจน 
3. ลงมือ เริ่มการเดินหน้าออมเงิน
การแบ่งสัดส่วนการออม  เป็น 4 ส่วน


  1. เงินสำรองใช้ อันนี้เป็นเงินเก็บที่สะสมไว้เพื่อใช้จ่ายในอนาคต คือตั้งใจไว้เลยว่านี่คือเงินเก็บไว้ใช้จริงๆ เช่น iPhone รุ่นใหม่ออก ซื้อเสื้อผ้า กินข้าวมื้อพิเศษ ตลอดไปจนรายจ่ายพิเศษที่อาจจะเกิดขึ้นจากชีวิตประจำวัน เงินก้อนนี้จะแบ่งเอาไว้ในปริมาณที่ตั้งใจไว้ว่าจะใช้ไม่เกินไปจากนี้ เช่นสมมติเงินเก็บก้อนนี้มี  20,000 บาท แต่ถ้าจะเอาไปซื้อไอโฟนซึ่งไม่พอ ก็จะไม่เอาเงินเก็บกองอื่นมาใช้ ต้องรอให้เงินกองนี้ครบเสียก่อนถึงจะเอาไปซื้อได้
  2. เงินสำรองเที่ยว ก้อนนี้แนะนำให้เก็บไว้เพื่อเป็นรางวัลกับตัวเองในการทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน ให้ไอเดียว่าปีๆ หนึ่งเราควรออกไปท่องเที่ยว เติมแรงบันดาลใจให้ตัวเองกันบ้างสักครั้งสองครั้ง เงินก้อนนี้คือก้อนที่แบ่งไว้เพื่อกรณีนี้ ให้ตั้งใจไว้เลยว่าก้อนนี้ใช้เที่ยว ไม่ใช่เอามาเก็บเพื่ออย่างอื่น ถ้าสมมติปีนี้เก็บได้ 1 หมื่นแล้วยังไม่เที่ยว ก็เก็บไว้เที่ยวปีหน้าที่อาจจะเพิ่มเป็น 2 หมื่น สามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้ ฯลฯ
  3. เงินลงทุน ก้อนนี้จะแบ่งไว้สำหรับคนที่อยากลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เงินก้อนนี้เน้นการเห็นผลในอนาคตระยะยาว (แต่ถ้าใครเก่งจะเล่นหุ้นเทคนิคระยะสั้นก็ไม่ว่าอะไรนะครับ) แต่เงินก้อนนี้ต้องทำใจว่าการจะได้คืนในระยะเวลาอันสั้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ควรจะเป็นเงินที่เหลือจากการเก็บสำรองไว้แล้วเพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน เงินก้อนนี้จำเป็นต้องใช้เวลาในการแปรกลับมาเป็นเงินสดอีกครั้ง (ขายหุ้น ขายบ้าน ฯลฯ)
  4. เงินออมระยะยาว อันนี้คือการเก็บเงินสดสำรองไว้ในภายภาคหน้าไกลๆ อาจจะไม่ต้องเก็บทีละเยอะๆ แต่เป็นการเก็บที่ต่อเนื่อง มากน้อยแตกต่างกันได้แต่ต้องทำอยู่สม่ำเสมอ ถ้าใครนึกอะไรไม่ออกอาจจะใช้วิธีการฝากบัญชีเงินฝากประจำก็ได้เพื่อบังคับตัวเองอยู่เรื่อยๆ

เราใช้การแบ่งเงินออกเป็นสี่ก้อนดังกล่าว นอกจากนี้แล้ว ยังอาจจะมีเทคนิคในการแบ่งเงินอีกแบบคือการแบ่งบัญชีรายได้ประจำกับบัญชีรายได้ไม่ประจำ ทั้งนี้เพราะบัญชีเงินเดือนนั้น เราสามารถกะเกณฑ์ได้ว่าทุกๆ เดือนเราจะแบ่งเงินออกไปยังกองนั้นกองนี้เท่าไร แต่บัญชีที่มาจากงานเสริมนั้นมีรายได้เข้ามาไม่แน่นอน บางเดือนมาก บางเดือนไม่มี ฉะนั้นควรแยกบัญชีรายได้ส่วนนั้นออกไป โดยจะดีถ้าให้เงินก้อนนั้นเป็นเงินเก็บสะสมอีกกองหนึ่งที่เราจะไม่แตะต้อง
อันนี้เป็นวิธีการแบ่งเงินออมแบบง่ายๆ  แต่ก็หวังว่ามันอาจจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ คนที่เริ่มเก็บเงินกันบ้างแล้วกันนะค่ะ 
ที่มา http://www.nuttaputch.com/tips-for-money-saving/

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ประโยชน์ของการออม

                    การออมคืออะไร

            คำศัพท์ ในพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ให้นิยามไว้ว่า  ออม ก. ประหยัด เก็บหอมรอบริบ, เช่น ออมทรัพย์; ถนอม, สงวน, เช่น ออมแรง จากความหมายนี้ แสดงว่า การออม คือ การประหยัด การเก็บหอมรอบริบ การถนอม และการสงวน สิ่งที่จะประหยัด หรือเก็บหอมรอบริบ ได้แก่ ทรัพย์สินเงินทอง           ฉะนั้น การออม จึงมีความหมายกว้าง คือหมายถึง การใช้สิ่งมีค่ามีคุณทั้งหลายอย่างระมัดระวัง อย่างไม่ประมาท อย่างมีเหตุมีผล ทั้งในตนและนอกตน คือ ตนเอง ชีวิตของตนเองซึ่ง แต่ละคนจะต้องถือว่า มีความหมายสูงสุด สำคัญสูงสุด จึงต้องรู้จักตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต ไม่ปล่อยปละละเลยให้ ตกต่ำให้ไร้ค่า พยายามรักษาและพัฒนาให้เจริญให้ได้ ในขณะเดียวกัน ทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีพ ก็ต้องให้ความสำคัญ ต้องรู้จักเก็บรู้จักใช้ ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่โค่นป่าเพื่อหานก เป็นต้น    จะเห็นได้ว่า การออมมิได้มุ่งที่ออมเงินอย่างเดียว แต่หมายถึง การออมชีวิตตนเอง และปัจจัยในการดำรงชีพทุกอย่าง           การออม ในเบื้องต้น เป็นเรื่องของคน คือ จุดเริ่มต้นจะเกิดที่คน การออมจะเกิดได้ก็เพราะคนได้รับการศึกษาเรียนรู้ มีครู คือ พ่อแม่ เป็นต้น เป็นผู้แนะนำสั่งสอน ให้ความสำคัญ ความจำเป็น และผลหรือคุณประโยชน์ที่เกิดจากการออม เมื่อโตขึ้นก็คิดได้เอง ทำได้เอง และสอนผู้อื่นต่อไป การออมจึงเป็นเรื่องของการศึกษา การพัฒนาชีวิตของคนลักษณะหนึ่ง คือ การฝึกให้รู้ ให้คิด และให้ทำในสิ่งดีมีประโยชน์            การออมชีวิต ออมเงิน ออมทรัพยากรธรรมชาติมีป่าไม้ แหล่งน้ำ แหล่งดิน ก็ต้องเริ่มต้นที่การเรียนรู้ การคิดและการปฏิบัติเช่นเดียวกัน

การออมให้คุณประโยชน์แก่เราอย่างไรบ้าง?

  กล่าวโดยรวมการออมให้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นการ ออมเงินและออมทรัพยากรอื่น รวมทั้งการออมชีวิต  หากจะแยกให้เห็นเป็นเรื่อง ๆ ก็แยกได้ดังนี้ 


    1) ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจ แปลว่า กิจที่ประเสริฐ คือ เป็นกิจที่ช่วยให้ชีวิตดำรงอยู่และเปิดโอกาสให้คนได้พัฒนาชีวิตคนให้เจริญ ให้สูงขึ้นได้ การประกอบอาชีพ เช่น การปลูกพืชผัก เพื่อบริโภค เพื่อแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้าน หรือเพื่อจำหน่ายให้ได้เงินมา เพื่อนำไปแลกกับปัจจัยด้านอื่น เช่น ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ เป็นต้น เรียกกันว่า เป็นเรื่องกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ คือ เรื่องการผลิต การแจกจ่าย และการบริโภค เงินเป็นตัวกลางของการแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายปัจจัยทั้งหลาย จึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีพสูงมาก โดยเฉพาะปัจจุบัน การจะมีเงินได้ก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้น เมื่อได้มาก็ต้องรู้จักประหยัดรู้จักออม เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของปัจจัยในการดำรงชีพต่อไป


     2) ด้านสังคม ในกระบวนการออม ถ้ารวมกลุ่มการออมตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ถึงจังหวัด ที่ปฏิบัติกันอยู่ขณะนี้ เห็นได้ชัดว่า มีผลดีด้านสังคม คือ เป็นกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ให้คนคิดถึงกัน เอื้ออาทรต่อกัน หรือรักกันมากขึ้น อย่างกรณีการออมสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาท เป็นเครื่องมือให้คนที่เป็นสมาชิกคิด เอื้ออาทรต่อเพื่อนสมาชิก ต่อผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการช่วยตัวเองไม่ได้ และได้มีส่วนช่วยเพื่อนตั้งแต่วันลืมตามาดูโลกจนถึงวันตาย ถ้าได้ปฏิบัติกันอย่างจริงจังก็จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว และชุมชนได้ทางหนึ่ง


    3) ด้านวัฒนธรรม กิจกรรมที่คนส่วนใหญ่ถือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย มีสาระทั้งที่เป็นความรู้ ความคิด การปฏิบัติที่มีแบบแผนแน่นอน และทำอย่างต่อเนื่อง และให้ผลเป็นความดีแก่ผู้ปฏิบัติ เราจัดว่าเป็นวัฒนธรรม พฤติกรรมการออม กิจกรรมการออม ผลการออมมีลักษณะเช่นว่านี้ จึงจัดว่าเป็นวัฒนธรรมสำคัญของชุมชนได้อย่างหนึ่ง ถ้าได้ปฏิบัติกันอย่างจริงจังตลอดไป เพราะเนื้อในของการออม นั้นมีองค์ประกอบของความเป็นวัฒนธรรมครบถ้วน คือ มีทั้งองค์ความรู้ วิธีปฏิบัติ และผลการปฏิบัติที่ชัดเจน ให้ประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติดีได้ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านกาย ด้านสังคม ด้านใจ และด้านจิตวิญญาณ


    4) ด้านการศึกษา ภาพรวมทางกระบวนการการออมเป็นเรื่องของการเรียนรู้ การฝึกตนเอง ผู้ทำการออม หรือเป็นสมาชิกกลุ่มเพื่อออมเพราะต้องรู้หลักคิด หลักการและหลักปฏิบัติ ตลอดถึงผลลัพธ์ที่พึงได้พึงมี การที่ทุกคนเดินเข้าสู่กระบวนการนี้ได้ชื่อว่า เดินเข้าสู่กระบวนการทางการศึกษา เพื่อพัฒนาตนเอง ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ อย่างตั้งใจจะเรียนรู้ก็จะได้รับประโยชน์ส่วนนี้อย่างครบถ้วน โดยไม่รู้ตัว และจะพบว่าตนเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งด้านการรู้ การคิด การพูด และการทำ


    5) ด้านทรัพยากรธรรมชาติแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า เขา สัตว์ พืชที่เราได้เห็น อยู่รอบ ๆ ตัวเรา บ้านเรา ชุมชนเรา คือ ชีวิตเรา เพราะว่า เราต้องอาศัยดิน น้ำ ป่า เขา พืช สัตว์เหล่านั้น จึงมีชีวิตอยู่ได้ ดินหด น้ำแห้ง ฝนแล้ง ป่าถูกเผา ภูเขาพัง สัตว์ล้มตายด้วยโรคบางชนิด ภาวะเช่นนี้ คือ สัญญาณเตือนภัยอันใหญ่หลวง ได้เกิดขึ้นแก่มนุษย์แล้ว เพราะเราเป็น อยู่ได้ พัฒนาได้ ก็โดยอาศัยสิ่งเหล่านี้ การพูดถึงการออมทรัพย์สินหรือทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งเท่ากับออมชีวิต เงินทองจะมีความหมายก็เมื่อมีสิ่งนี้ เมื่อไม่มีสิ่งนี้ เงินทองก็หมดความหมาย กลายเป็นเศษกระดาษ เศษโลหะที่กินไม่ได้ ช่วยชีวิตมนุษย์ไม่ได้เลย การใช้เงินเพื่อจัดการทรัพยากรให้คงอยู่ในภาวะปกติ จึงเป็นเรื่องต้องคิดต้องทำ


    6) ด้านการพัฒนาชีวิต การออมเป็นเรื่องการรู้ การคิด และ การทำ การออมที่เริ่มด้วยการเรียนรู้เรื่องสัจจะ คือ ความจริงที่รู้ ที่คิด ที่พูด ที่ทำ ของตนเอง ว่าจะต้องพูดจริง ทำจริง คิดจริง และรู้จริงนั้น นับเป็นการเรียนรู้เพื่อรู้จักตนเอง รู้จักความสัมพันธ์ระหว่างคนกับผู้คนในครอบครัว ในชุมชน เป็นต้น โดยเฉพาะคนในครอบครัว มีภรรยา หรือสามี และลูก ๆ รวมปู่ยาตายาย ถ้าคนในครอบครัวรู้จักสัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง จริงใจ จริงวาจา จริงการทำต่อกัน รู้จักข่มใจในบางโอกาสบางกรณี รู้จักอดทนอดกลั้น รู้จักสละสิ่งของให้แก่กัน และรู้จักสลัดอารมณ์มัวหมอง เป็นตน ก็มีคุณต่อชีวิตของคนในครอบครัว อย่างมากมายแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าได้ศึกษาให้ลึกลงไปในสัจจะของชีวิตทั้งที่ตนเอง ผู้อื่น สิ่งอื่น รอบ ๆ ตัวอีกด้วยแล้ว ก็จะยังเพิ่มคุณประโยชน์ให้อีกมากมาย จนถึงขั้นเข้าใจสัจธรรม ทั้งที่ตนเองผู้อื่น และสิ่งอื่น ก็ถือว่า ถึงขั้นสุดยอด ของการพัฒนาชีวิตแล้ว


ที่มาคอลัมน์ บทความจากเพื่อน  
เรื่อง การศึกษา คือ การพัฒนาชีวิต : กรณีการออม เศรษฐกิจพอเพียงและการทำบัญชีครัวเรือน
โดย : สุภาคย์ อินทองคง 
http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=376